สุริยนมัสการ หรือการไหว้พระอาทิตย์

สุริยนมัสการ หรือการไหว้พระอาทิตย์ เป็นอาสนะแห่งโยคะ ที่มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่อง 12 ท่า เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแก่ พระสุริยเทพ แห่งศาสนาฮินดู โดยพระสุริยเทพจะมีพระนามหลักอยู่  12 พระนาม  ในการไหว้พระอาทิตย์แบบดั้งเดิมของอินเดียจะใช้บทสวดมนต์ หรือสุริยามันตราประกอบท่า  12 บท ดังต่อไปนี้

  1. พระนามมิตรา : โอม มิตรายะ นะมะฮา หมายถึง ขอนมัสการแด่พระผู้เป็นมิตรกับสรรพสิ่ง

ขั้นตอนที่ 1: ท่ายืนไหว้ หรือ ท่านมัสการ

ยืนตรงอย่างสำรวม เท้าชิดติดกัน มือทั้งสองข้างอยู่ในท่าไหว้ระดับอก พยายามทรงตัวให้มั่นคง

  1. พระนามระวี: โอม ระวะเย นะมะฮา หมายถึง ขอนมัสการแด่พระผู้สร้างแสงสว่างสุกใสระวี

ขั้นตอนที่ 2: ท่ายกมือเหนือศีรษะ หรือ ท่าพระจันทร์เสี้ยว

หายใจเข้า เหยียดแขนขึ้นเหนือศีรษะจนสุด ยืดกระดูกสันหลังขึ้น แอ่นตัวไปด้านหลัง สายตามองที่มือ เป็นอาสนะท่ายืนที่ลำตัวคล้ายรูปจันทร์เสี้ยว

  1. พระนามสุริยา: โอม สูรยายะ นะมะฮา หมายถึง ขอนมัสการแด่พระผู้สร้างความมีชีวิตชีวา

ขั้นตอนที่ 3: ท่ายืนก้มตัว

หายใจออก ก้มตัวลงให้มากที่สุด พยายามให้นิ้วมือติดพื้น (ถ้าไม่ได้ให้จับที่ข้อเท้าแทน) ถ้าฝึกเป็นประจำจะสามารถแตะหน้าผากจรดกับเข่า และวางฝ่ามือราบบนพื้น

  1. พระนามภาณุ: โอม ภนะเว นะมะฮา หมายถึง ขอนมัสการแด่พระผู้สร้างแสงส่องสว่าง

ขั้นตอนที่ 4: ท่าก้าวขายืดสะโพก

วางมือทั้งกับพื้นอย่างมั่นคง หายใจเข้า ถอยเท้าขวาไปด้านหลัง วางเข่าลงพื้น ลดสะโพกลงให้ต่ำ ตั้งเข่าซ้ายขึ้น โดยให้เท้าและมืออยู่ในระดับเดียวกัน ยืดอกขึ้นให้สูง เงยหน้ามองขึ้นด้านบน

(ให้จำไว้ว่าเมื่อเราถอยเท้าขวา ตอนกลับจะก้าวขาเดิมกลับมา ในรอบถัดไปเราจะถอยเท้าซ้ายและตอนกลับจะก้าวขาซ้ายกลับ ดังนั้นในรอบที่ 1,3,5,7,9,11 จะใช้ขาขวาถอย หากเป็นรอบที่ 2,4,6,8,10,12 จะใช้เท้าซ้ายเป็นตัวถอย)

  1. พระนามคาคะ: โอม ขกายะ นะมะฮา หมายถึง ขอนมัสการแด่พระผู้เคลื่อนไหวอย่างว่องไวในนภากาศ

ขั้นตอนที่ 5: ท่ากระดาน

หายใจออก ให้ถอยเท้าซ้ายคู่กับขวา หลังตรงเก็บหน้าท้อง เข่าลอยขึ้นจากพื้น จินตนาการให้เป็นเหมือนไม้กระดานแข็งๆ มองพื้น ศอกตรง

  1. พระนามปุสนา: โอม ภุชเน นะมะฮา หมายถึง ขอนมัสการแด่พระผู้ให้ความแข็งแกร่ง

ขั้นตอนที่ 6: ท่า 8 จุดสัมผัส

หายใจออก วางเข่าแตะพื้น ส่งสะโพกไปด้านหลัง มือดันพื้นไว้ เคลื่อนตัวไปด้านหน้าเล็กน้อยพร้อมกับวางอก คางแตะพื้น ปลายเท้ายังคงตั้งไว้  ให้ 8 จุดสัมผัสพื้นคือ มือ 2 เท้า 2 เข่า 2 อีก 2 คือ อก และคาง

  1. พระนามวรัญญะ: โอม หิรัญ การภา นะมะฮา หมายถึง ขอนมัสการแด่พระผู้เป็นแสงทองอันไพศาล

ขั้นตอนที่ 7: ท่างู

หายใจเข้า ค่อยๆ เคลื่อนตัวไปด้านหน้า เหมือนงูเลื้อย จนท้องสัมผัสพื้น ยืดอกขึ้น ข้อศอกงอได้ ดึงไหล่ให้ไกลจากใบหู มือวางบนพื้น ตามองไปด้านหน้า

  1. พระนามมริสา: โอม มริชเย นะมะฮา หมายถึง ขอนมัสการแด่พระผู้เป็นเจ้าแห่งรุ่งอรุณ

ขั้นตอนที่ 8: ท่าสุนัขแลลง

หายใจออก ก้มคางชิดอก ยกสะโพกและกระดูกก้นกบขึ้น ให้เป็นรูปตัววี “V” แบบคว่ำลง โดยให้เข่าและศอกเหยียดตึง ให้ฝ่ามือและฝ่าเท้าสัมผัสกับพื้น ศีรษะปล่อยลงสบายๆ

  1. พระนามอาทิตย์: โอม อดิตยายะ นะมะฮา หมายถึง ขอนมัสการแด่พระผู้เป็นมารดาแห่งไพศาล

ขั้นตอนที่ 9: ท่าก้าวขายืดสะโพก

หายใจเข้า ก้าวเท้าขวากลับมาด้านหน้าระหว่างมือทั้งสองข้าง วางเข่าซ้ายลงบนพื้น กดสะโพกลง เงยหน้ามองขึ้นด้านบน

  1. พระนามสาวิตรี: โอม สวิตเตร นะมะฮา หมายถึง ขอนมัสการแด่พระผู้เป็นเจ้าผู้สร้างสรรค์
    ขั้นตอนที่ 10: ท่ายืนก้มตัว

หายใจออก  ส่งเท้าซ้ายมาด้านหน้า มือทั้งสองยังอยู่บนพื้น พับตัว

  1. พระนามอักคะ: โอม อคายะ นะมะฮา หมายถึง ขอนมัสการแด่พระผู้เป็นเจ้าผู้สมควรได้รับการสรรเสริญ

ขั้นตอนที่ 11: ท่ายกมือเหนือศีรษะ หรือ ท่าพระจันทร์เสี้ยว

หายใจเข้า ค่อยๆ ยกตัว เพื่อเข้าสู่ท่ายืน โดยยืนให้เท้าชิดกัน เหยียดแขนขึ้นเหนือศีรษะจนสุด ศอกเหยียดตึง แอ่นตัวไปด้านหลัง

  1. พระนามภัสกระ: โอม ภาสคารายะ นะมะฮา หมายถึง ขอนมัสการแด่พระผู้เป็นเจ้าผู้นำทางสู่การรู้แจ้ง

ขั้นตอนที่ 12:  ท่ายืนไหว้ หรือ ท่านมัสการ

มือทั้งสองข้างอยู่ในท่าไหว้ระดับอก สำรวมกายใจให้สงบนิ่ง รับรู้ถึงพลังจากพระอาทิตย์ และเตรียมที่จะทำในรอบต่อไป โดยการคลายมือ ปล่อยมือข้างลำตัว สิ้นสุดการไหว้พระอาทิตย์หนึ่งรอบ

 

ประโยชน์ของสุริยนมัสการ หรือการไหว้พระอาทิตย์

  1. ช่วยให้อวัยวะภายใน กระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับอ่อน ม้าม หัวใจและปอดแข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยให้อวัยวะภายนอกดังเช่นระบบกล้ามเนื้อ เช่นกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก ไหล่ มือ หน้าขา น่อง มีความแข็งแรง
  2. ทำให้กระดูกสันหลังและเอวมีความยืดหยุ่น ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตในร่างกาย ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งขจัดโรคทางผิวหนัง
  3. ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างสมบูรณ์ มีความสมดุลของกายและใจ มีพลังที่มาจากกายและจิตวิญญาณ มีความสงบแห่งจิต มีความจำที่ดี มีพลังแห่งชีวิตที่ดี และมีความแข็งแรงจากภายในสู่ภายนอก
  4. ช่วยลดความชราของร่างกาย ลดผมร่วงและหงอก ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ
  5. นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้หญิงที่ต้องการรักษาและคงความงาม ทำให้ร่างกายมีรูปร่างสมส่วน ลดไขมันส่วนเกิน และทำให้หน้าท้องแบนราบ นอกจากนี้ยังช่วยในการปรับสมดุลของประจำเดือนให้มาเป็นปกติ และช่วยให้คลอดบุตรได้ง่ายขึ้น

 

ข้อควรระวัง

  1. หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรฝึกสุริยนมัสการ
  2. ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและไส้เลื่อนไม่ควรฝึกสุริยนมัสการ
  3. ในระหว่างประจำเดือนประจำเดือนผู้หญิงควรหลีกเลี่ยงสุริยนมัสการ
  4. ผู้เริ่มต้นฝึกใหม่ และผู้ที่มีอาการปวดหลังต้องฝึกภายใต้การแนะนำของครูสอนโยคะที่มีประสบการณ์

 

 

 

Back To Top